วัดพิพัฒน์มงคล

      วัดพิพัฒน์มงคล ตั้งอยู่ อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ห่างจากที่ว่าการอำเภอทุ่งเสลี่ยม ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัด แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นวัดร้างกลางทุ่งนา สันนิษฐานว่าเป็นวัดมาก่อนประมาณ 700 ปี ไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ แต่พบเพียงรากฐานอุโบสถ เจดีย์โบราณ ซึ่งจมอยู่ใต้พื้นดินลึกลงไปประมาณ 1.50 เมตร ตรงใจกลางวัดในปัจจุบัน วัดพิพัฒน์มงคล เป็นที่รู้จักกันดีไปทั้งประเทศ จนถึงยังต่างประเทศถือเป็นสถานธรรมซื่อดังอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และยังเป็นแหล่งสถานที่ศึกษาเชิงพุทธศาสนา และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยมีหลวงพ่อพระครูวรคุณประยุต พระอาจารย์พิพัฒน์มงคล เจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอ ทุ่งเสลี่ยม ก่อตั้งสร้างวัดและ ได้พัฒนาถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่จัดว่าเป็นเอกลักษณ์ วิจิตรเชิงศิลปะโบราณทรงไทยล้านนาขึ้นเป็นจำนวนมากในวัดแห่งนี้ เช่น โบสถ์เรือนแก้ว วิหารล้านนา ลานศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีนักธรรมการพัฒนาและการปฏิบัติธรรม รวมทั้งพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะสมัยกรุงสุโขทัยที่ประดิษฐานและสร้างซื่อเสียง โด่งดังมาควบคู่กับวัดและจังหวัดสุโขทัย รวมระยะเวลา ๒๖ ปี  บนพื้นที่ 119  ไร่ ของการสร้างวัด คณะศรัทธาพุทธศาสนิกชน ร่วมบุญสร้างวัดกับหลวงพ่อพิพัฒน์มงคล

      วัดพิพัฒน์มงคล ได้รับการยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างปี 2540 เป็นอุทยานการศึกษาปี 2541 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงาน ดีเด่นปี 2543 เป็นวัดปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปี 2543 และได้รับเสมาทองคำพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้รับการยกย่องจากสถาบันพัฒนา และโล่เกียรติคุณต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จนมีคณะสงฆ์ จากวัดและจังหวัดต่าง ๆ ให้ความสนใจมาศึกษาดูงานมากมาย ซึ่งวัดได้จัดระเบียบความสวยงาม ความสะอาด ร่มรื่น สมเป็นสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองคำ ( พระพุทธรูปสุโขโพธิ์ทอง ) ซึ่งเป็นทองคำแท้ มีอายุยาว 500 ปี หนัก 9 กิโลกรัม มีพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุรากขวัญ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา โดยสมเด็จ พระมหานายกะสมเด็จพระสังฆราชลังกาในนครแคนดี้ ได้นำมาประดิษฐานเป็นถาวรที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2527 ( พระธาตุรากขวัญ คือพระธาตุไหปลาร้าของพระพุทธเจ้า )

        เนื่องในวโรกาสอันเป็นมงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษา และทรงเจริญพระชนม พรรษา ครบ 80 พรรษา ในปี 2550  หลวงพ่อพระอาจารย์พิพัฒน์มงคลฯ ได้ร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ผู้ศรัทธาทั้งหลายได้เป็น ประธานร่วมกันถวายปัจจัยเป็นทุนเบื้องแรกดำเนินการสร้างอาคารเรือนไทย หอคำหลวงไม้สักทอง เสา 99 ต้น อาคารทรงไทยหอคำ หลังนี้  สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปเหมือนเถราจารย์ผู้ใหญ่  4 ภาค เช่น ภาคใต้ รูปเหมือนหลวงปู่ทวด  ภาคกลางหลวงพ่อเงิน  หลวงปู่สุข กทม. หลวงพ่อสด สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ภาคเหนือ หลวงปู่แหวน  ครูบาศรีวิชัย  หลวงปู่แก้ว และรูปเหมือนเกจิ อาจารย์อีกหลายองค์ จึงเป็นที่มาของการสร้างอาคารหลังนี้ซึ่งเป็นศิลปะล้านนา ไทยหลังใหญ่ที่สุดใน ภาคเหนือตอนล่าง

     ประวัติพระพุทธสุโขโพธิ์ทอง
พระพุทธสุโขโพธิ์ทอง หรือนามสามัญ หลวงพ่อทองคำ วัดพิพัฒน์มงคล เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์ ด้วยทองคำหนัก 9 กิโลกรัม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยศิลปะสมัยสุโขทัยที่มีความงดงาม  เดิมองค์พระพอกปูนลงรักปิด ทองอารักขาภัยไว้ ตัวองค์พระทองคำดังปรากฏในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สกุลช่างสุโขทัย มีอายุประมาณ 700 ปี มีประวัติความเป็นมาและอภินิหารที่น่าสนใจ พระพุทธสุโขโพธิ์ทอง เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างมากของชาว ทุ่งเสลี่ยม เนื่องจากเชื่อกันว่าพระพุทธสุโขโพธิ์ทอง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้เจ้าอาวาสสามารถตั้งวัดและหาปัจจัยเพื่อก่อสร้าง เสนาสนะให้วัดพิพัฒน์มงคลมีความเจริญและ เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำคัญของจังหวัดสุโขทัยได้ในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี

      พระพุทธสุโขโพธิ์ทอง ประดิษฐานอยู่ที่กุฎิเจ้าอาวาส วัดพิพัฒน์มงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันทางวัดกำลังสร้าง พระพุทธวิหาร เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานเป็นอาคารทรงทรงหอคำหลวงแบบสถาปัตยกรรมล้านนา โดยช่างรุ่ง จันทร์ตาบุญ นายช่างใหญ่คนเดียวกับผู้ออกแบบก่อสร้างอาคารหอคำหลวงในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549
วัดพิพัฒน์มงคลยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีสำนักปฏิบัติธรรมพลังจิตตภาวนาญาณทิพย์ ลานปฏิบัติธรรมพุทธมณฑลจำลอง และเมืองโบราณเก่าแก่ อายุประมาณ 880 กว่าปี ซึ่งบูรณะขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งหอเดินจงกรม หอปฏิบัติธรรม 

      สำหรับผู้ที่ต้องการมาปฏิบัติธรรม พักค้างแรมได้ที่วัด โดยมีห้องพักขนาดใหญ่จำนวน 10 ห้อง รองรับได้ประมาณ 40 กว่าคน และมีอาคารปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ที่สามารถรับผู้ที่มาปฏิบัติธรรมได้อีกจำนวนหนึ่งบริเวณรอบวัดได้ก่อสร้าง สถานที่ พักแรม เป็นศาลาเรือนนอน รองรับได้หลายร้อยคน และอาคารให้สำหรับผู้ค้าขายเดินทางมาจาก ต่างจังหวัดเพื่อค้างแรมเข้าพักได้ตลอดเวลา ทางวัดได้นำอาหารและน้ำไว้ให้บริการตลอดเวลา โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก http://www.pipatmongkol.com


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 563,748