วัดตระพังทอง ตั้งอยู่ที่ถนนจรดวิถีถ่อง หมู่ที่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 44 ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือยาว 5 เส้น 10 วา ติดต่อกับถนนจรดวิถีถ่อง ทิศใต้ยาว 3 เส้น 10 วา ติดต่อกับสวนป่ากล้วยของชาวบ้าน ทิศตะวันออก ยาว 8 เส้น ติดต่อกับหมู่บ้านประชาชน ทิศตะวันตกยาว 8 เส้น ติดต่อกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง โดยมี สค.1 เลขที่ 782 เป็นหลักฐาน
พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และมีสระน้ำโบราณหลายสระบริเวณพื้นที่วัดตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่า สภาพแวดล้อมเป็นหมู่บ้าน ประชาชนและมีถนนหนทางติดต่อคมนาคมสะดวก อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถกว้าง 8.30 เมตร ยาว 15 เมตร สร้าง พ.ศ. 2550 ช่อฟ้าทำเป็นหัวนาคสังคโลก ศาลาการเปรียญกว้าง 12.30 เมตร ยาว 19.23 เมตร สร้าง พ.ศ. 2499 หอสวดมนต์กว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร สร้าง พ.ศ. 2526 กุฎีสงฆ์ จำนวน 7 หลัง สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” เป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย รอยพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง 4 ฟุต 10 นิ้ว ยาว 6 ฟุต 8 นิ้ว สลักบนแผ่นหินศิลาเป็นรอยพระบาทเบื้องขวาที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ 54 ดอก ภายในเป็นรูปชาดกต่าง ๆ ผู้สร้างคือพระมหาธรรมราชาที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 1902 และมีเจดีย์ทรงลังกาขนาดฐานกว้าง 8 วา สูง 12 วา ศิลปะการก่อสร้างเป็นสกุลช่างสมัยสุโขทัย
วัดตระพังทองสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1826 ได้นามจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณวัดว่าตระพังทอง ตามประวัติศาสตร์สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และต่อมาประมาณ พ.ศ. 2450 พระยารณชัยชาญยุทธ (ครุฑ) ได้นำประชาชนบูรณะอุโบสถ ครั้นปี พ.ศ. 2473 พระราชประสิทธิคุณ เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้นำรอยพระพุทธบาทที่เขาพระบาทใหญ่มาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ และได้จัดงานมนัสการเป็นประจำทุกปี วัดตระพังทองนับเป็นวัดชนิดได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมาแล้ว ตามทะเบียนวัดระบุปี พ.ศ. 1830 ไว้เป็นหลักฐาน มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา 20 รูป สามเณร 34 รูป ทางวัดเปิดสอนปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา
อ้างอิงข้อมูลจาก : http://th.wikipedia.org