วัดสว่างอารมณ์
วัดสว่างอารมณ์ ฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ในเขตตำบลเมืองสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๓๘ โดยพระยาวิชิตภักดี (นาค) ผู้ครองเมืองสวรรคโลกครั้งนั้นได้บริจาคที่ดิน จำนวน ๔๒ ไร่ เพื่อใช้เป็นที่สร้างวัดพร้อมทั้งบริจาคเรือนพัก หรือจวนให้เป็นเสนาสนะสงฆ์ ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดจวน
วัดสว่างอารมณ์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๓๐ และได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ สิ่งสำคัญภายในวัดมีดังนี้
พระอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ เป็นอาคารทรงไทย กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๒ เมตร สูง ๑๖ เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเรืองฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๒.๓๐ เมตร สูง ๒.๘๐ เมตร มีพุทธลักษณะสวยงามมาก เดิมประดิษฐานอยู่ที่พระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุเชลียง (วัดพระปรางค์) เมืองสวรรคโลกเก่า หรืออำเภอศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อพระยาวิชิตภักดี (นาค) สร้างวัดสว่างอารมณ์เสร็จ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถแต่นั้นมา
พระวิหาร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ เป็นอาคารทรงไทย กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๑๔ เมตร สูง ๑๕ เมตร เป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของวัด
พระมณฑป สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ โดยตระกูลคันธนาค เป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข กว้างยาวด้านละ ๑๑.๕๐ เมตร มีกำแพงล้อมรอบ พร้อมซุ้มประตูทั้งสี่มุขเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
วัดหนองโว้ง
วัดหนองโว้ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมในเขตตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ มีพื้นที่ประมาณ ๗๗ ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ วัดนี้สร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๒๔๒
พระอุโบสถ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๑ โดยเจ้าเมืองบางยมร่วมกับชาวบ้านช่วยกันสร้าง ใช้เวลาถึงแปดปีสิ้นค่าก่อสร้าง ๔,๐๐๐ บาทเศษ ฝาผนังภายในโบสถ์เขียนภาพพระเจ้าสิบชาติ และพุทธประวัติบางตอนประดับไว้อย่างสวยงาม เพดานบนแกะสลักไม้สักเป็นรูปดอกไม้ประดับลวดลายและปิดทองด้วย พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๘๙ นิ้ว รอบพระประธานทั้งสี่ทิศ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๙ นิ้ว พระอุโบสถกว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร กำแพงก่ออิฐฉาบปูนแบบสมัยโบราณ ก้อนอิฐที่ใช้เป็นอิฐก้อนใหญ่เท่าขนาดที่ใช้ก่อสร้างสมัยสุโขทัย กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สูง ๑.๕๐ เมตร
พระมณฑป สร้างหลังจากสร้างพระอุโบสถแล้วเสร็จ เป็นแบบทรงไทยจตุรมุขกว้างด้านละ ๙ เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง รอบผนังด้านข้างพระมณฑป ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งสี่มุม ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว กำแพงแบบสองชั้น ชั้นในกว้างยาวด้านละ ๑๒ เมตร ชั้นนอกกว้างยาวด้านละ ๒๒ เมตร
พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสองพี่น้อง ซึ่งเป็นที่นับถือกันอย่างมาก แท่นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสองพี่น้องสร้างอย่างงดงาม ประดับลวดลายต่าง ๆ ยากที่จะหาวัดใดเสมอเหมือน ในวันขึ้น ๑๒ - ๑๕ ค่ำ ถึงแรมค่ำเดือนสาม จะมีงานฉลองนมัสการปิดทองหลวงพ่อสองพี่น้องเป็นประจำทุกปี
ศาลาการเปรียญ สร้างหลังสร้างพระวิหารแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นศาลาทรงไทย กว้าง ๒๔ เมตร ยาว ๔๒ เมตร ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาต่าง ๆ และเป็นสถานที่ทำบุญของพุทธศาสนิกชน
ภูเขาพระฉาย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ โดยพวกมอญที่มาอาศัยพักหลับนอนในระหว่างที่ล่องเรือบรรทุกโอ่ง อ่าง ไห จากใต้ไปจำหน่ายทางเหนือ พวกมอญเหล่านี้ได้ร่วมกันสร้างภูเขาพระฉาย (ถ้ำไห) ขึ้น มีลักษณะเป็นถ้ำข้างล่าง ก่อด้วยไหเสริมคอนกรีต บนยอดก่อเป็นรูปเจดีย์ มีฉัตรบนยอด ข้างล่างมีทางเข้าทางด้านตะวันออก ทางด้านตะวันตกมีทางเข้าสองช่อง ตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาสูงประมาณ ๓.๔๐ เมตร ฉายพระรัศมีตรวจดูเวไนยสัตว์ก่อนจะเสด็จออกโปรด ถ้ำมีลักษณะคล้ายอุโมงค์ ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
http://sti.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=118&Itemid=116#sigFreeIdf08775a04f